ข้อมูลสภาพชุมชนและสังคม
- หน้าหลัก
- ข้อมูลสารสนเทศ 9 ประการ
- ข้อมูลสภาพชุมชนและสังคม
ระยอง เริ่มปรากฎชื่อในพงศาวดารเมื่อปี พ.ศ.2113 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา โดยมีประวัติดั้งเดิมตามข้อสันนิษฐานว่า น่าจะก่อตั้งเมืองขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1500 ยุคที่ขอมมีอานุภาพเฟื่องฟูแถบดินแดนสุวรรณภูมิ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานจากหลักฐานที่พบ คือ ซากศิลาแลงคูค่ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในเขตอำเภอบ้านค่าย อันเป็นศิลปะการก่อสร้างแบบขอม โดยในสมัยโบราณ ระยองมีชนพื้นเมืองคือชาวซอง ซึ่งเป็นเผ่าที่อาศัยอยู่กระจายโดยทั่วไปในภาคตะวันออก ในประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงเมืองระยองในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ระหว่างที่กรุงศรีอยุธยาใกล้จะเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ใ นสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ในเดือนยี่ปี พ.ศ.2309 พระยาวชิรปราการ หรือ พระยาตาก พร้อมไพร่พลประมาณ 500 คน ได้ตีฝ่าวงล้อมทัพพม่า มุ่งสู่ตะวันออกมาหยุดพักไพร่พลที่เมืองระยอง และได้ปราบปรามคณะกรรมการเมืองที่แข็งข้อยึดเมืองระยองได้ จากความสามารถครั้งนั้น เหล่าทหารจึงยกย่องให้เป็น “เจ้าตากสิน” ก่อนเดินทัพไปยังเมืองจันทบุรี เพื่อยึดที่ดินในการกอบกู้อิสรภาพคืนจากพม่าได้ในปี พ.ศ.2113
ระยอง… เป็นจังหวัดขนาดเล็กแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย ที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีผลไม้ชั้นยอด เป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีสภาพเศรษฐกิจดี มีรายได้ต่อหัวประชากรสูง เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เมื่อก่อนจังหวัดระยองจะเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองแห่งผลไม้ดีของภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นมังคุด ทุเรียน เงาะ รวมทั้ง อาหารทะเลสด แปรรูป กะปิ น้ำปลา เนื่องจากความเหมาะสมของสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวยและสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม นอกจากนั้น ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม เนื่องจากมีชายหาดยาวสวยเลียบขนานไปกับอ่าวไทย และเกาะสวยงามระดับโลก เช่น เกาะเสม็ดก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายท่ามกลางนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดคือเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม จังหวัดระยองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม นับตั้งแต่การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นการเริ่มต้นยุค “โชติช่วงชัชวาลย์” และเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก” (Eastern Seaboard Development Program) ในปี 2524 ในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมนำการท่องเที่ยวและการเกษตร ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คือ 1,143,740 บาท/คน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) เท่ากับ 672,104 ล้านบาท โดยมาจาก สาขาการผลิตด้านอุตสาหกรรม กว่าร้อยละ 92 จังหวัดระยองได้นำข้อมูลด้านต่าง ๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาระที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ มาเรียบเรียงลงในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้รู้จักจังหวัดระยองมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นสื่อที่ช่วยส่งเสริม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้น หากมีข้อบกพร่องประการใด คณะผู้จัดทำยินดีน้อมรับเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป บรรยายสรุปจังหวัดระยอง 2560
ระยอง ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่หลากหลายไปด้วยผลไม้นานาชนิด อาทิเช่น ทุเรียน เงาะ สับปะรดมังคุด มะม่วง กล้วย ลองกอง และบางชนิดได้ชื่อว่ามีรสชาดดีหรืออร่อยที่สุดในโลก ซึ่งได้แก่ ทุเรียน สับปะรดผลไม้ 5 ลำดับแรก ที่ทำรายได้สูงสุดให้จังหวัดระยอง ได้แก่ 1. ทุเรียน 2. สับปะรด 3. มะม่วง 4. เงาะ 5. มังคุด จังหวัดระยองได้จัดงาน “เทศกาลผลไม้และของดีจังหวัดระยอง” เป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูผลไม้ออกผลประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตด้านผลไม้และส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะเวลาที่จัดประมาณ 10 วัน มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวดขบวนรถผลไม้ การประกวดธิดาชาวสวนการประกวดผลไม้ การแข่งขันรับประทานผลไม้ เนื่องจาก ผลไม้ของจังหวัดระยองมีรสชาด เป็นที่นิยมชมชอบรับประทานของชาวต่างประเทศ ดังนั้น ทาง กรอ.จังหวัดระยอง ร่วมกับหอการค้าจังหวัดระยอง ได้ผลักดันให้มีการส่งผลไม้ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งอันได้แก่การส่งสับปะรดไปจำหน่ายยังประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และยังได้ขอให้รัฐบาลผลักดันให้มีการ เปิดตลาดทุเรียนในประเทศจีน เนื่องจากชาวจีนนิยมรับประทานทุเรียนมาก และจีนมีประชากรนับ พันล้านคน หากเปิดตลาดจีนได้สำเร็จ ต่อไปจีนจะเป็นลูกค้าที่สำคัญรายใหญ่ของประเทศไทย นอกจากนี้ กรอ.จังหวัดระยองยังผลักดันให้มีการส่งทุเรียน ไปจำหน่ายที่ประเทศฮ่องกง โดยใช้สะนามบินอู่ตะเภา แทนสนามบินดอนเมือง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ได้จัดเที่ยวบินมาขนส่งผลไม้จากสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 ในช่วงฤดูผลไม้ที่ผ่านมา และปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยคาดว่าต่อไปสนามบินอู่ตะเภาจะได้รับการพัฒนาให้เป็นสนามบินพาณิชย์โดย สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการส่งเสริมผลไม้ไทย บริษัท สุภัทราแลนด์ จำกัด ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานฑูตไทย ประจำประเทศสิงคโปร์ สถานฑูตไทยประจำประเทศมาเลเซียและจังหวัดระยอง ได้จัดงาน “ส่งเสริมผลไม้และอาหารไทย” ณ สถานฑูตไทยในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย สินค้าที่นำไปจำหน่ายมี ทุเรียน เงาะ มะม่วง สับปะรด ส้มโอ มะละกอ ฝรั่ง ทุเรียนกวน สับปะรดกวน ผลไม้และน้ำผลไม้กระป๋อง และอาหารทะเลแห้ง ซึ่งการจัดงานดังกล่าวได้ดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงด้าน “ผลไม้รสล้ำ” ให้แก่จังหวัดระยองเป็นอย่างยิ่ง และสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้ระยอง เพราะแท้จริงแล้วสิงคโปร์นั้นคือตลาดโลก จึงทำให้ผลไม้ของจังหวัดระยองเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก
อุตสาหกรรมก้าวหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นโครงการนำร่องภายใต้แผน Eastern Seaboard ที่รัฐบาลได้เตรียมโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานไว้อย่างพร้อมเพรียง ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน แหล่งน้ำ ท่าเทียบเรือ จากสถิติการได้รับการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรม จาก BOI ที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่าจังหวัดระยองมีการขอรับ และได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีแนวโน้มการได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้มีการผลักดันความเจริญและการจ้างงานในภูมิภาค ของรัฐบาล จังหวัดระยองจึงมีความเจริญก้าวหน้า ด้านการลงทุนอุตสาหกรรม สามารถเป็นแหล่งรองรับการลงทุน ด้านอุตสาหกรรมผลิตปัจจัย 4 ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้าหรือเพื่อส่งออกตามเป้าหมายของรัฐบาลได้อย่างแน่นอน
น้ำปลารสเด็ดที่สุดของน้ำปลาอยู่ที่จังหวัดระยอง กล่าวคือ มีโรรงานน้ำปลามากที่สุดในประเทศ โดยมีถึง 26 โรงงาน จากทั้งหมด 35 โรงงานทั่วประเทศ เงินลงทุน 52.88 ล้านบาท มีคนงานประมาณ 200 คน นอกจากนั้น ยังมีการผลิตน้ำปลาแบบ อุตสาหกรรมในครัวเรือนกระจายกันอยู่ทั่วไป ที่สำคัญน้ำปลาที่ผลิตยังมีรสชาติ แห่งความอร่อยเป็นรสสมกับคำขวัญว่า ” น้ำปลารสเด็ด “ อย่างแท้จริง ที่กล่าวว่าระยองเป็นเมืองน้ำปลารสเด็ดนั้น แท้จริงแล้วยังมีความหมายครอบคลุม ไปถึงการประมงทั้งหมด โดยที่จังหวัดระยองมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 100 กิโลเมตร อาชีพดั้งเดิมของชาวระยอง คือการทำประมง ปัจจุบันมีเรือประมง 1,230 ลำ มีเนื้อที่ทำการประมงในทะเล ประมาณ 6,225,000 ไร่ มีครัวเรือนที่ทำการประมง จำนวน 7,275 ครัวเรือน จำนวนชาวประมง 41,569 คน มีมูลค่าการผลิตจากการประมงในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 3,535.73 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย หรือการเลี้ยงปลาในกระชัง และการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
เกาะเสม็ดสวยหรูเกาะเสม็ด หรือ เกาะแก้วพิสดาร เพชรเม็ดงามของจังหวัดระยอง ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง รวมพื้นที่ประมาณ 4.5 ไร่ ห่างจากฝั่งบ้านเพ ประมาณ 6.5 กิโลเมตร เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีหาดทรายสวยงามตามธรรมชาติ มีป่าไม้ และภูเขา ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นแบบผสมผสานกลมกลืน บรรยากาศสงบเงียบ เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจและท่องเที่ยวเกาะเสม็ดนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และส่วนที่ราษฎรอาศัยอยู่เดิม มีสถานที่พักบริการ เช่น บังกาโล รีสอร์ท อยู่เรียงรายริมชายหาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคในระดับดี ได้แก่ ท่าเทียบเรือเกาะเสม็ด ถนนและทางเดินเท้าคอนกรีตเสริมเหล็ก สระน้ำจืด(สระอโนดาษ) และไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะทำการติดตั้งโรงจักรไฟฟ้าบนเกาะเสม็ด ในปี 2539 โดยมีแผนงานวางเคเบิ้ลใต้น้ำในโอกาสต่อไป ปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สำคัญของเกาะเสม็ดคือ เรื่องขยะ ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น แม้ว่าทางราชการได้จัดสร้างเตาเผาขยะให้แล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นได้ ดังนั้น หากจะให้เกาะเสม็ดยังคงคงวามสวยหรู ขึ้นอยู่กับราษฎร ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ด ที่จะต้องช่วยกันรักษาเพชรเม็ดงามเม็ดนี้ไว้ นานแสนนาน
สุนทรภู่กวีเอกสุนทรภู่ เป็นรัตนกวีสี่แผ่นดิน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 ได้สร้างผลงานไว้มากมาย สร้างความรุ่งเรืองให้แก่ วรรณกรรมของไทย ต่อมาองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ ให้เป็นกวีเอกของโลกสุนทรภู่มีบิดาเป็นชาวกร่ำ เมืองแกลง ซึงในปัจจุบันคือตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จึงถือได้ว่าสุนทรภู่ เป็นชาวระยอง เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุยายน 2329 ณ บริเวณฝั่งธนบุรี ใกล้กับพระราชวังหลัง ในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังสร้างกรุงเทพฯ แล้ว 4 ปี สำหรับมารดานั้นยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นชาวเมือง ใด“นิราศเมืองแกลง” เป็นนิราศเรื่องแรกที่สุนทรภู่แต่งขึ้นในคราวที่เดินทางไปหาบิดา ที่เมืองแกลง ปี พ.ศ.2349 ซึ่งบิดาได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดบ้านกร่ำ เมื่อคราวตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จกรมพระราชวังหลัง (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์)ไปพระพุทธบาทสุนทรภู่ได้แต่ง “นิราศพระบาท” ขึ้นในปี พ.ศ.2350 ขณะอายุได้ 21 ปี สุนทรภู่ได้แต่งงานกับ “จัน” มีลูกชาย 1 คนชื่อ “หนูพัด” แต่อยู่กันได้ไม่นานต้องเลิกลากันไป เพราะสุนทรภู่เป็นสิงห์ขี้เมา ต่อมาได้ภรรยาอีกคนเป็นชาวสวนบางกรวยชื่อ “นิ่ม” มีลูกชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ “ตาบ” แต่นิ่มได้ป่วยและเสียชีวิตเมื่อลูกยังเล็ก ๆ กลอนนิทานเรื่องแรกที่สุนทรภู่แต่งคือเรื่อง “โคบุตร” ความยาว 28 เล่มสมุดไทย แต่งถวายพระองค์เจ้าปฐมวงค์ ซึ่งได้รับความนิยมมาก ครั้นปี พ.ศ. 2358 สุนทรภู่ได้แต่งนิทานคำกลอนขึ้นอีกเรื่องหนึ่งคือ “พระอภัยมณี”ความยาวประมาณ 94 เล่มสมุดไทยซึ่งคณะละครของนายบุญยังนำไปแสดงทำให้ชื่อเสียงของสุนทรภู่เลื่องลือ ไปทั่วกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงสุนทรภู่มีชีวิตรุ่งเรืองมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่ 2) ซึ่งทรงโปรดปรานบทกวีมาก ครั้งหนึ่งสุนทรภู่ได้แต่งต่อ บทกวีนิพนธ์เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนนางสีดาผูกคอตาย ปรากฎว่าเป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอย่างยิ่ง และทรงโปรดแต่งตั้งให้เป็นขุนสมุทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษา ต่อมาสุนทรภู่ได้แต่งสุภาษิตคำกลอนเรื่อง “สวัสดิรักษา” มีความยาว 1 เล่มสมุดไทย ใน พ.ศ.2367 ถวายพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระโอรสในรัชกาลที่ 2 ครั้นสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ได้ถูกทอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร สุนทรภู่จึงออกบวช ในปี พ.ศ.2367 ณ วัดระฆังโฆสิตาราม แต่มาจำพรรษา ณ วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) ในขณะที่บวชได้แต่ง “นิราศภูเขาทอง” สำหรับนิทานคำกลอนที่สุนทรภู่แต่งค้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น ได้นำออกมาแต่งต่อ ได้แก่ เรื่อง “สิงหไกรภพ” และเรื่อง “ลักษณวงศ์” เป็นต้น ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4) สุนทรภู่ได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” รับราชการอยู่เพียง 4 ปีเศษ ก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 อายุ 69 ปี จังหวัดระยอง ได้จัดสร้างอนุเสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ ตำบลกร่ำ อำเภอเมืองแกลง จังหวัดระยองและได้จัดงาน “วันสุนทรภู่” ขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึงท่านสุนทรภู่กวีเอกของโลก
ภูมิประเทศ เป็นที่ราบชายฝั่งที่เกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณแอ่งลุ่มน้ำระยอง และที่ลาดสลับเนินเขาและภูเขา มีลักษณะเป็นลอนลูกคลื่นสูงต่ำสลับกันไป โดยมีพื้นที่ ทิวเขา 2 แนว คือทิวเขาชะเมาทาง ทิศตะวันออก ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1,035 เมตร และทิวเขาที่อยู่ประมาณกึ่งกลางของตัวจังหวัดเป็นแนวยาวจากอำเภอเมืองระยองขึ้นไปทางเหนือจนสุดเขตจังหวัด มีแม่น้ำสายสั้นๆ ซึ่งเกิดจากเทือกเขาจันทบุรีและเทือกเขาบรรทัด ไหลลงสู่อ่าวไทย แม่น้ำที่สำคัญ ได้แก่แม่น้ำบางประกง แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำระยอง เป็นต้น ลักษณะชายฝั่งทะเลมีหาดทรายสวยงามและมีเกาะใหญ่น้อยเรียงรายเลียบตามแนวชายฝั่งนับเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
จังหวัดระยองตั้งอยู่ทิศตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 12-13 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 101-102 องศาตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 3,552 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ2,220,000 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 179 กิโลเมตร ทิศเหนือ ติดต่อเขตอำเภอหนองใหญ่ อำเภอบ่อทอง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทิศใต้ ติดชายฝั่งอ่าวไทย ยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ทิศตะวันออก ติดต่อเขตอำเภอนายายอาม อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อเขตอำเภอสัตหีบ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
จังหวัดระยองมีลักษณะภูมิอากาศ แบบมรสุมเขตร้อน ลมทะเลพัดผ่านตลอดปี อากาศอบอุ่นไม่ร้อนจัด บริเวณชายฝั่งทะเลเย็นสบาย ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี สามารถเก็บน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำเพียงพอสำหรับการใช้อุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมได้ตลอดทั้งปี
แบ่งเขตการปกครองเป็น 8 อำเภอ โดยประกอบด้วย 54 ตำบล 439 หมู่บ้าน 80 ชุมชน ส่วนด้านการปกครองท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลนคร 1 แห่งเทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 22 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 42 แห่ง ประชากรของจังหวัดระยอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 มีทั้งสิ้น 583,470 คน เป็นชาย 288,098คน คิดเป็นร้อยละ49.38 เป็นหญิง 295,372 คน คิดเป็นร้อยละ 50.62 ของประชากรทั้งหมด อำเภอที่มีประชากรมากที่สุด คือ อำเภอเมือง มีจำนวน 224,850 คน อำเภอที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ อำเภอเขาชะเมา มีจำนวน 22,915 คน จำนวนครัวเรือนทั้งจังหวัดรวม 281,344 ครัวเรือน อำเภอเมืองระยองมีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด คือ 437 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร รองลงมาคือ อำเภอบ้านฉาง224 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร อำเภอที่มีประชากรหนาแน่นน้อยที่สุด คืออำเภอปลวกแดง และอำเภอวังจันทร์ 63 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร จากการคาดการณ์ว่าประชากรของจังหวัดระยองจะเพิ่มเป็น 638,017 คนในปี 2560 แต่ในสภาพความเป็นจริง จังหวัดระยองมีประชากรมากกว่าตัวเลขในทะเบียนราษฎร์ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน ทั้งนี้เกิดจากการอพยพเข้ามาในแรงงานภาคอุตสาหกรรมและการบริการ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาระที่เป็นประโยชน์ด้านอื่น ๆ เกี่ยวกับจังหวัดระยองเพิ่มเติม >>>> ตามเวปไซต์ และ LINK ด้านล่าง